ประวัติความเป็นมาคณะ
รายละเอียดมีดังนี้
คณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ในยุคของ “วิทยาลัยครูพระนคร” ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ 2518 โดยคณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเวลานั้น ได้เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง) และระดับปริญญาตรี ในวิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ คหกรรมศาสตร์ สุขศึกษา และพลศึกษา
ในปี พ.ศ. 2528 วิทยาลัยครูพระนครงดรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง แต่รับเฉพาะนักศึกษาสายครู ระดับปริญญาตรี 4 ปี และ 2 ปีหลังอนุปริญญา โดยคณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเริ่มมีภาควิชาต่างๆ เกิดขึ้น ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนและย้ายสังกัดของภาควิชาในปี พ.ศ. 2530 ทำให้คงเหลือสาขาวิชาที่อยู่ในสังกัดคณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาเอกเกษตรศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร สัตวบาล การส่งเสริมและสื่อสารการเกษตร วิทยาการคอมพิวเตอร์ คหกรรมศาสตร์ สุขศึกษา และเคมีปฏิบัติ และสาขาวิชาการศึกษา วิชาเอกคณิตศาสตร์ ชีววิทยา ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ทั่วไป เกษตรกรรม และคหกรรมศาสตร์
สำหรับบทบาทในการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน คณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 โดยได้มีการก่อตั้งศูนย์บริการการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิทยาลัยครูพระนคร เพื่อจัดกิจกรรมอบรมถ่ายทอดความรู้และเทคนิคต่างๆ ทางด้านวิชาการและเทคนิคการสอนให้กับครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2530 - 2540 จึงได้รับเกียรติจากกรมการฝึกหัดครูและกรมสามัญศึกษา ให้ทำการคัดเลือกนักเรียนของโรงเรียนที่มีความสามารถด้านทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ให้เป็นตัวแทนของกรุงเทพมหานครทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเข้าแข่งขันความสามารถในระดับประเทศ โดยหลังจากปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา กิจกรรมต่างๆ ของศูนย์บริการการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิทยาลัยครูพระนคร จะเป็นไปในรูปของการให้บริการวิชาการ โดยอาจารย์ในคณะได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรตามสถานที่ต่างๆ หรือการจัดอบรมให้ความรู้เฉพาะเรื่องภายในวิทยาลัยครูพระนคร
ในปี พ.ศ. 2538 ภายหลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนชื่อวิทยาลัยครูพระนคร เป็น “สถาบันราชภัฏพระนคร” ทำให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น โดยได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และภาควิชาเคมี ในปี พ.ศ. 2539 และ 2541 ตามลำดับ
ในปี พ.ศ. 2542 คณะกรรมการสภาประจำสถาบันราชภัฏพระนคร มีมติเห็นชอบให้มีการบริหารงานวิชาการในคณะในรูปแบบของโปรแกรมวิชา โดยในปี พ.ศ. 2543 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เปิดสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต จำนวนทั้งสิ้น 14 โปรแกรมวิชา ประกอบด้วย โปรแกรมวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์ อิเล็กทรอนิกส์ ฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป ชีววิทยา สุขศึกษา คหกรรมศาสตร์ ส่งเสริมและสื่อสารการเกษตร เกษตรศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร สัตวบาล เกษตรกรรม เคมี และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร นอกจากนี้ ยังได้เปิดสอนในระดับปริญญาโท สาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษา และสาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา อีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2544 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ตามมาด้วยอีก 2 หลักสูตร ในปี พ.ศ. 2546 คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สำหรับพัฒนาการด้านการบริการวิชาการ ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการของศูนย์ฯ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2547
ต่อมาภายหลังจากที่สถาบันราชภัฏพระนคร ได้เปลี่ยนสถานภาพ เป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 มีผลบังคับใช้ ทำให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาตรีอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงรูปแบบของการบริหารจัดการในลักษณะของโปรแกรมวิชาไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการปรับปรุงการบริหารงานวิชาการให้เป็นในรูปแบบของสาขาวิชา โดยกำหนดให้มีจำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตรของแต่ละหลักสูตร/สาขาวิชา ในระดับปริญญาตรี เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2548 เพื่อให้การบริหารหลักสูตรเกิดผลดีมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยสาขาวิชาจำนวนทั้งสิ้น 13 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คหกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ สัตวศาสตร์ เทคโนโลยีการจัดการการเกษตร เกษตรศาสตร์ และเทคโนโลยีการจัดการสุขภาพ
ในปีพ.ศ. 2552 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้เริ่มนำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) มาใช้เพื่อการบริหารจัดการหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิง่ขึ้น ส่งผลทำให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะเพื่อเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรดังกล่าวเรื่อยมา โดยในปี พ.ศ. 2556 ได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 หลักสูตร
ในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์แอนิเมชันและมัลติมีเดีย ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2548 โดยสามารถเปิดรับสมัครนักศึกษาและจัดการเรียนการสอนการสอนได้ในปีการศึกษา พ.ศ. 2559 เป็นปีแรก
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกประกาศ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2558 เพื่อใช้กำกับดูแลหลักสูตรระดับอุดมศึกษาที่จะพัฒนาและปรับปรุง โดยในปีนี้ได้มีการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวัสดุศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 หลักสูตร
ในปี พ.ศ. 2561 สภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้ออกประกาศยุบเลิกหน่วยงานภายในที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ จำนวน 2 หน่วยงาน คือ วิทยาลัยนานาชาติพระนครและบัณฑิตวิทยาลัย มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ส่งผลทำให้หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2560) ซึ่งเดิมสังกัดวิทยาลัยนานาชาติพระนคร ถูกโอนมาสังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะที่หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาโท ได้ถูกโอนไปสังกัดวิทยาลัยการฝึกหักครู ทำให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคงเหลือเฉพาะหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556) เพียงหลักสูตรเดียวในระดับบัณฑิตศึกษา
ในปี พ.ศ. 2562 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ขออนุมัติปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560) และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556) เนื่องจากไม่มีนักศึกษาในหลักสูตร ทำให้คงเหลือเฉพาะหลักสูตรระดับปริญญาตรีเท่านั้นที่มีการจัดการเรียนการสอน
ในปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ด้วยเหตุที่สถานการณ์นักศึกษาในบางสาขาวิชามีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้สามารถเปิดหมู่เรียนได้ ส่งผลทำให้หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาเคมี ชีววิทยา และวัสดุศาสตร์ จำเป็นต้องงดรับนักศึกษาและขออนุมัติปิดหลักสูตร (แบบมีเงื่อนไข) ในเวลาต่อมา และนำศักยภาพของอาจารย์ในสาขาวิชาเหล่านั้นมาพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2564) ซึ่งเป็นหลักสูตรเชิงสหวิทยาการ นอกจากนี้ ยังได้มีการควบรวมของ 3 หลักสูตรทางด้านการเกษตร อันได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สัตวศาสตร์ และเทคโนโลยีการเกษตร และปรับปรุงเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2564) สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์นั้น ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรเช่นเดียวกันในปีการศึกษา พ.ศ. 2564 โดยเปลี่ยนจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์
ในปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหลักสูตรที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบรวมจำนวนทั้งสิ้น 15 หลักสูตร ดังตาราง
ชื่อหลักสูตร/สาขาวิชา |
ปรับปรุง/พัฒนา
(พ.ศ.) |
สถานภาพ |
1.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวัสดุศาสตร์ |
หลักสูตรใหม่
(พ.ศ. 2559) |
ปิดหลักสูตรแบบมีเงื่อนไข |
2.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2560) |
ปกติ |
3.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2561) |
ปิดหลักสูตรแบบมีเงื่อนไข |
4.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2561) |
ปิดหลักสูตรแบบมีเงื่อนไข |
5.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2561) |
ปกติ |
6.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2561) |
ปกติ |
7.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2561) |
ปกติ |
8.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการสุขภาพ |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2561) |
ปกติ |
9.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2561) |
ปกติ |
10.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์แอนิเมชันและมัลติมีเดีย |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2564) |
ปกติ |
11.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2564) |
ปกติ |
12.ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2564) |
ปกติ |
13.การแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2564) |
ปกติ |
14.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ |
หลักสูตรปรับปรุง
(พ.ศ. 2564) |
ปกติ |
15.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ |
หลักสูตรใหม่
(พ.ศ. 2564) |
ปกติ |