โครงการจัดตั้งศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพฯ
- Home
- โครงการจัดตั้งศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพฯ
ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสมบูรณ์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยนับเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม แต่การพัฒนาประเทศบนฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพยังไม่ยั่งยืนเนื่อง จากการขาดองค์ความรู้พื้นฐานทั้งที่เป็นความรู้สมัยใหม่และความรู้จากภูมิปัญญาที่จะนำมาผสมผสานรวมทั้งขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่ง นำไปสู่ความไม่มั่นคงต่อการรักษาทรัพยากรรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้าน เศรษฐกิจสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน ปัจจุบัน อันก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อทรัพยากรชีวภาพซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่ง พัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรและองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่าง บูรณาการ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาผสมผสานร่วมกัน นอกจากนี้ความหลากหลายทางชีวภาพยังเป็นต้นแบบก่อให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ทั้งภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความเชื่อทางศาสนาของผู้คนในสังคมชุมชนท้องถิ่น จนเกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาษา จารีตประเพณี รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นตามสภาพความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ (วิสุทธิ์ ใบไม้, 2541) ดังนั้นในปีงบประมาณ 2557 โครงการวิจัยกลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพเครือข่ายวิจัยกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ดำเนินการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการงานวิจัยในรูปแบบของเครือข่ายทั้งในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดโดยจัดสรรงบประมาณให้กับสถาบันวิจัยและพัฒนาของแต่ละมหาวิทยาลัยและผู้ประสานงานระดับภูมิภาค (Node) อีก 9 แห่ง เพื่อช่วยให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่นักวิจัยทำให้เกิดเครือข่ายการวิจัย กระตุ้นให้บุคลากรในอุดมศึกษาตื่นตัวในการทำวิจัยท้องถิ่น สร้างองค์ความรู้แบบบูรณาการ นำความรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาชุมชนและท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง (สำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ, 2557: 6-7) และในปีงบประมาณ 2558 มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระดับภูมิภาค ในมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี โดยมีระบบติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลการวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยให้นักวิจัยนำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิได้วิพากษ์และให้คำแนะนำ มีการรายงานความก้าวหน้าของโครงการวิจัย และมีการรายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์ รวมทั้งให้ความรู้ด้านเทคนิคการวิจัยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์ การเขียนบทความทางวิชาการ การพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อรับทุนจากหน่วยงานภายนอกและการนำผลการวิจัยบูรณาการการเรียนการสอน การบริหารจัดการและองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นผลจากงานวิจัยเพื่อการพัฒนานักวิจัย กระตุ้นและสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งการสร้างวินัยให้กับนักวิจัยให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อหน้าที่ของนักวิจัยที่ดี ได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านความหลากหลายทางชีวภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏ